โอกาสในการประกอบอาชีพอาชีพนักเศรษฐศาสตร์

  • Banker
  • Financial Analyst
  • Market Researcher
  • Business Manager
  • Economic Consultant
  • Foreign Trade Specialist

 

1. นิยามอาชีพ
     ผู้ที่ปฏิบัติงานอาชีพในหน่วยนี้ ได้แก่ ผู้ที่ทำการ ศึกษา ค้นคว้า ปรับปรุง หรือพัฒนา แนวคิดทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติงานทางด้านเศรษฐกิจ นำความรู้ความเข้าใจทางทฤษฎีและปฏิบัติไปใช้อธิบายได้ภาวะการเปลี่ยนแปลงของตลาดและสินค้า คาดการณ์แนวโน้มทางการค้าในประเทศและระหว่างประเทศ นโยบายด้านการเงิน งบประมาณ ภาวะการว่างงาน รายได้ ผลผลิตและการบริโภค ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ข้อมูลสถิติและวิธีการอื่น ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ อาจพิจารณาจากองค์ประกอบและแนวโน้มของเศรษฐกิจในอดีต ปัจจุบันและที่ได้วางแผนไว้ จัดเตรียมเอกสารและรายงานทางวิชาการ ปฏิบัติหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้อง ควบคุมและดูแลผู้ปฏิบัติหน้าที่การงานอื่น ๆ

2. ลักษณะของงานที่ทำ

— ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย จัดทำรายงาน และวางแผนงาน เพื่อส่งเสริมพัฒนา และแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายสินค้าและบริการ การการลงทุน แรงงาน
— ศึกษากรรมวิธีทั้งหมดที่เกี่ยวกับการดำรงชีพของมนุษย์ และจัดหาสิ่งต่างๆ มาบำบัดความต้องการของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อยู่อาศัย บริการ หรือการบันเทิง ตลอดจนการศึกษาสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือสิ่งที่ช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจบรรลุผลสำเร็จ
— ค้นหาวิธีเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ และข้อมูลทางเศรษฐกิจ รวบรวม และตีความข้อมูลดังกล่าว
— จัดทำรายงาน และวางแผนงานตามผลการศึกษางานทางเศรษฐกิจ และตามข้อมูลที่ได้ตีความและวิเคราะห์แล้ว
— ให้คำปรึกษาแนะนำ แก่หน่วยงานประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมของเอกชนหรือหน่วยงานรัฐบาลในเรื่องต่างๆ เช่น ประสิทธิภาพของการทำงานการตลาดและปัญหาเกี่ยวกับการเงิน เป็นต้น
— อาจเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจสาขาใดสาขาหนึ่ง เช่น เศรษฐกิจการเกษตรเศรษฐกิจการคลัง หรือเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ การแรงงาน หรือราคา หรือเชี่ยวชาญในเรื่องการเก็บภาษีอากร หรือ การวิจัยตลาดและอาจมีชื่อเรียกตามความเชี่ยวชาญ
— ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย วางแผน เก็บรวบรวมข้อมูล ให้คำปรึกษาแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับที่มาของรายได้ รายจ่าย การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ การผลิต การบริโภคสินค้าและบริการ เพื่อการส่งเสริม พัฒนา และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

3. สภาพการจ้างงาน
     ผู้ที่ทำงานในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ จะได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ส่วนในภาคเอกชนจะได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ในการทำงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทหรือองค์กรที่จ้างงาน ซึ่งไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนตายตัว  นอกจากค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนแล้วในภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนอาจได้รับผลประโยชน์พิเศษอย่างอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือ สวัสดิการในรูปแบบต่างๆ เงินโบนัส ค่าล่วงเวลา เป็นต้น ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ มีชั่วโมงทำงานโดยปกติวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงและอาจต้องทำงานล่วงเวลา หรือวันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือวันหยุด เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลา

4. สภาพการทำงาน
     นักเศรษฐศาสตร์ทำงานในสำนักงานทั่วไป ในการทำงานอาจจะต้องใช้ เครื่องคำนวณ และหรือเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้ช่วยงานศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ในการวางแผนในเชิงธุรกิจของ หน่วยงาน

5. คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพนักเศรษฐศาสตร์ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
— สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ หรือสาขาวิชา ที่เกี่ยวข้อง
— มีความรู้และเข้าใจภาษาอังกฤษได้ดี และสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ มีความถนัดและสนใจด้านคณิตศาสตร์ และสังคมศาสตร์
— มีบุคลิกดี มีความสามารถในการเจรจาต่อรองและประนีประนอมได้ดี
— มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีใจกว้าง ยอมรับฟังการติชมจากผู้อื่น
— ซื่อสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อความคิดเห็นของตนเอง เสนอข้อคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ และเป็นกลาง
— รักความเป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น

6. ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้
     ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการสามารถสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อสาขาเศรษฐศาสตร์ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องในสถาบันอุดมศึกษา หลักสูตร 4 ปีฃ

7. โอกาสในการมีงานทำ
     สามารถประกอบอาชีพเป็นพนักงานในธนาคาร พนักงานในองค์การระหว่างประเทศ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว นักวิจัย นักวิชาการด้านธุรกิจการค้าและเศรษฐกิจ สถาบันการเงินทั่วไป อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ในตลาดแรงงานยังมีความต้องการ นักเศรษฐศาสตร์อีกมาก เพื่อพัฒนาธุรกิจของหน่วยงานและประเทศให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและสามารถแข่งขันทางการค้าในภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปให้ทันต่อเหตุการณ์ เวลา และถูกต้อง เนื่องจากทุกประเทศมีจุดมุ่งหมายให้มีรายได้เข้าประเทศให้มากที่สุด เพื่อให้ประชากรมีการกินดีอยู่ดี และสร้างประเทศให้มั่งคั่ง การแข่งขันทางการค้าและมาตรการกีดกันทางการค้าจึงมีความเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์สามารถเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง หน้าที่ และหน่วยงานที่ตนปฏิบัติได้เสมอ อาจจะเป็นนักวิเคราะห์ระบบ นักวิจัย และนักวางแผนทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

8. โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
     ผู้ประกอบอาชีพนี้ สามารถประกอบอาชีพได้หลายประเภท ในสถานที่ต่างๆ ได้หลายแห่งทั้งที่เป็นหน่วยงานของราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน บริษัท ห้างร้านต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชน และได้รับการเลื่อนตำแหน่งจนถึงตำแหน่งหัวหน้างาน หัวหน้าฝ่าย ผู้จัดการฝ่าย ผู้อำนวยการ ผู้จัดการใหญ่ในภาคเอกชน ส่วนในภาครัฐ ถ้ามีการศึกษาในระดับที่สูงกว่าระดับ ปริญญาตรี มีประสบการณ์ และมีความสามารถในการบริหารงานจะสามารถเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งจนถึงระดับบริหารสูงสุดในหน่วยงานนั้น โดยทั่วไปผู้ที่มีโอกาสได้รับการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ หรือวิชาการบริหารธุรกิจก็สามารถเลื่อนวิทยฐานะหรือตำแหน่งงานที่สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หรืออาจเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาวิชา เศรษฐศาสตร์

9. อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
     นักบัญชี นักธุรกิจ นักบริหาร นักวิเคราะห์ระบบ นักวิจัย นักวางแผน นักการธนาคาร นักการเงิน นักการคลัง นักสถิติ นักการแรงงาน เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่หลักทรัพย์ เจ้าหน้าที่บุคคล เจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์

สรุปได้ว่า
เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สอนให้เกิดความรอบรู้ สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ (ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะเรื่องทางเศรษฐกิจเท่านั้น) ด้วยแนวทางที่สมเหตุผล จากการมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่เหมาะสม ดังนั้นหากเรียนเศรษฐศาสตร์ไปแล้ว จึงสามารถเป็นนักวิเคราะห์ที่ดี ทำการตัดสินใจได้ด้วยหลักการของเหตุผล มีมุมมองที่รอบด้านเพื่อการตัดสินใจอย่างเชื่อมโยงระหว่างระดับส่วนตัวกับส่วนรวม และยังสามารถนำความรู้จากการเรียนมาใช้ได้หลากหลาย ที่สำคัญการจัดการเรียนการสอนในเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน มีการตอบสนองต่อโลกการทำงานมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองหากจบไปแล้ว จึงมีโอกาสการทำงานได้หลายช่องทาง ทั้งในวงการราชการ ธุรกิจเอกชน สถาบันการเงิน และการประกอบกิจการส่วนตัว รวมไปถึงการใช้ฐานความรู้ของเศรษฐศาสตร์ไปต่อยอดองค์ความรู้ด้านอื่นๆ หากมองไปรอบด้านจะเห็นว่าผู้บริหารระดับสูง และผู้วางนโยบายของประเทศที่โดดเด่นจำนวนมาก มักมีพื้นฐานการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์มาก่อน

 

เรียนเศรษฐศาสตร์แล้วทำงานอะไร
     วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการตัดสินใจหาหนทางที่เหมาะสมที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เรื่องส่วนตัว เรื่องของหน่วยงาน และ เรื่องของส่วนรวม ถึงระดับชาติ

 

­งานใดบ้างที่ต้องใช้ความรู้เศรษฐศาตร์ ?

     ควรต้องเปลี่ยนคำถามว่า งานใดบ้างที่ไม่ต้องใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์ เพราะทุกงานไม่ว่าจะเป็นงานส่วนตัว ธุรกิจ ส่วนรวม หรือ ระดับชาติ ต้องใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์แทบทั้งนั้น
ในครัวเรือน
ต้องตัดสินใจเรื่องการเลือกซื้อสินค้าที่เหมาะกับความจำเป็นและรายได้ การซื้อสินค้าผ่อนส่ง การซื้อบ้านที่อยู่อาศัย การซื้อรถยนต์ที่คุ้มค่า การใช้โทรศัพท์มือถือ การประกันชีวิต ประกันอัคคีภัย การออมที่งอกเงยและปลอดภัย การเลือกอาชีพที่เหมาะสมที่สุด การเลือกการพักผ่อนในวันหยุด การเลือกที่เรียนให้ตนเองและบุตรหลาน การใช้บัตรเครดิต ฯลฯ คนจำนวนมากตัดสินใจโดยใช้ราคาเป็นตัวเลือก อย่างที่ทำกันอยู่ ย่อมเป็นวิธีที่ไม่ฉลาด

ในธุรกิจ
ต้องการทราบต้นทุนรวม ต้นทุนต่อหน่วยสินค้า จุดคุ้มทุน ระยะเวลาคุ้มทุน ค่าเสียโอกาส การสูญเสียในการผลิต จุดรั่วไหล ค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือการผลิต รายได้และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มการผลิต การประมาณอุปสงค์ของลูกค้า            ความยั่งยืนของธุรกิจ กำไรที่แท้จริง การเก็บวัตถุดิบที่พอเหมาะพอดี การเก็บเงินสดในปริมาณที่พอเหมาะ สภาพการเปลี่ยนแปลงของคู่แข่งขัน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะเศรษฐกิจของโลก ฯลฯ

ในระดับชาติ
ต้องการวางนโยบายเพื่อความเป็นธรรมและความเจริญ จึงมีการตัดสินใจเกี่ยวกับ นโยบายการคลัง (ภาษี และ ค่าใช้จ่ายของรัฐบาล) การกู้ยืมเงินจากแหล่งใด วิธีใดจึงดีกว่า การกำกับธนาคาร นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายปริมาณ   เงิน ขอบเขตของการส่งเสริมการลงทุนแก่คนต่างชาติ ค่าเสียโอกาสของประชาชนในส่วนรวม การแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ  รัฐวิสาหกิจ รัฐสวัสดิการ การแก้ปัญหาคนว่างงาน ความสูญเสียของการดื่มสุรา ความสูญเสียจากการจราจรติดขัด ความคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าของการผลิตกุ้งกุลาดำและมันสำปะหลังเพื่อส่งขายต่างประเทศ ฯลฯ

งานเหล่านี้ต้องการนักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้วิเคราะห์และตัดสินใจ อาจต้องทำละเอียดถึงขั้นวิจัย คนในสาขาวิชาอื่นอาจทำได้ แต่ไม่เป็นระบบที่เชื่อถือได้ เพราะไม่สามารถพิจารณาครบระบบ อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ปฏิบัติได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากท่านเรียนรู้เศรษฐศาสตร์ให้จริงจัง ก็ไม่น่าเป็นห่วงว่าจะไม่มีอาชีพ เพียงแต่ท่านเป็นคนประเภทไหน รู้จริง หรือเพียงแค่ได้ปริญญามาใบหนึ่งเท่านั้น

 

­ลักษณะงานของนักเศรษฐศาสตร์
นักเศรษฐศาสตร์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ในลักษณะต่อไปนี้
–  วิเคราะห์แยกแยะหาความจริง (analysis)
–  นำเรื่องหรือส่วนย่อยต่างๆมาแสดงให้เห็นเป็นระบบรวม (synthesis)
–  ทำการวิจัย (research)
–  พยากรณ์ (forecasting) และ
–  แนะนำ(advising)ผู้วางนโยบายหรือผู้ปฏิบัติ
ฉะนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงไม่มีปัญหาว่า “ไม่รู้จะทำอะไรดี” เพียงแต่ว่า เมื่อเรียนเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องเรียนให้รู้จริง เพื่อปฏิบัติงานได้จริง หากรู้ไม่จริงก็ทำงานไม่ได้ หรือทำความเสียหายใหญ่หลวงให้แก่ตนเอง และผู้อื่น

 

­งานอาชีพสำหรับนักเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ไหนบ้าง?

อาชีพ คือ การทำงานเพื่อหารายได้ หรือหาปัจจัยเลี้ยงชีวิต ซึ่งทำได้สองอย่าง คือ อาชีพส่วนตัวที่มีกิจการของตนเอง กับ อาชีพเป็นลูกจ้างผู้อื่น
นักเศรษฐศาสตร์ สามารถประกอบอาชีพส่วนตัวได้ดี เพราะเข้าใจความต้องการของลูกค้า เข้าใจกลไกการผลิต เข้าใจการคิดต้นทุนที่แท้จริง รู้จักลักษณะตลาด เห็นช่องทางหารายได้ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่เชื่อตามกระแส สามารถพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงสามารถประกอบกิจการส่วนตัวได้อย่างดี
นักเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่อยากรับผิดชอบกิจการของตัวเอง ก็อาจมีอาชีพเป็นลูกจ้างผู้อื่นได้อย่างกว้างขวาง งานที่มีให้ทำมีมากมาย
ราชการ : หน่วยงานราชการต้องการนักเศรษฐศาสตร์ทุกกระทรวง เพื่อวางแผนงาน วิเคราะห์งาน ประเมินผลงาน และ เป็นอาจารย์ในสายวิชาเศรษฐศาสตร์
รัฐวิสาหกิจ : (ซึ่งหลายแห่งเป็นบริษัทไปแล้ว และ กำลังแปรรูปเป็นบริษัท) ต้องการนักเศรษฐศาสตร์ เพื่อทำงานเกี่ยวกับการวางแผนงาน วิเคราะห์งาน ประเมินผลงาน รวมทั้งจัดการกับปัญหาการตลาด วิเคราะห์การผลิต วิเคราะห์ต้นทุน การเตรียมวัสดุคงคลังเพื่อให้พอการผลิตและจำหน่ายโดยประหยัดและไม่เสียงาน
โรงงานอุตสาหกรรม และ บริษัท ขนาดใหญ่ ต้องการนักเศรษฐศาสตร์เพื่อทำหน้าที่อย่างเดียวกับรัฐวิสาหกิจ
* สถาบันการเงิน : เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุน เครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันภัย ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจให้กู้เงิน มีงานให้นักเศรษฐศาสตร์ทำในหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ (ให้กู้ไปแล้วมีปัญญาชำระหนี้หรือไม่) พยากรณ์สภาพเศรษฐกิจ (ก็เพื่อทราบว่าผู้กู้เงินไปจะมีรายได้พอชำระหนี้หรือไม่) ธนาคารรับนักเศรษฐศาสตร์เข้าทำงานเป็นจำนวนมาก
สื่อมวลชน : เช่น สถานีโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์รายวัน และ วารสารต่างๆ ต้องการนักเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจ และ เขียนบทความให้ความรู้แก่ผู้อ่าน
องค์การระหว่างประเทศ : รับนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความรู้ภาษาต่างประเทศดีมาก เข้าทำงานเพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจตามลักษณะงานที่ต่างกันไปแต่ละองค์การ ได้รับเงินเดือนสูงมาก
ไม่เห็นจะมีปัญหาว่า เรียนจบปริญญาเศรษฐศาสตร์แล้วไม่มีงานทำ เพียงแต่ว่า ท่านจะต้องสร้างองค์ประกอบให้พร้อมที่ทำงานได้ เช่น
-ใช้คอมพิวเตอร์เป็น
-ภาษาต่างประเทศดี
-มีบุคลิกดี คือ การแต่งกายสุภาพเหมาะสม
-ท่วงท่าการพูดจาดี มีกิริยามารยาทสมบัติผู้ดี
-มีการตัดสินใจอย่างมีหลักเกณฑ์
-มีความรู้ จริงในวิชาเศรษฐศาสตร์
-พร้อมที่จะทำงานหนักและกล้ารับผิดชอบกับงานยาก
นักศึกษาทุกคนที่หางานทำไม่ได้ หรือ ไม่สามารถประกอบอาชีพเองได้ เนื่องจากขาดองค์ประกอบดังกล่าวมานี้

 

­คนที่มีลักษณะอย่างไรจึงควรเรียนเศรษฐศาสตร์
คนที่จะเรียนเพื่อรับปริญญาเศรษฐศาสตร์ ควรมีลักษณะดังนี้
* พร้อมสู้ในชีวิต ไม่กลัวงานยาก ชอบคิดหาเหตุผล มากกว่าใช้ความจำ หรือเชื่อตามๆกัน

 

วิชาเศรษฐศาสตร์ ไม่ยากอย่างที่คิด

* ไม่เกลียดคณิตศาสตร์ (มันไม่ยากมากอย่างที่กลัวกันหรอก ไม่มีใครเคยตายเพราะเรียนเศรษฐศาสตร์ )

* ชอบอาชีพท้าทายที่ไม่ค่อยมีใครกล้าทำ

ถ้าท่านมีคุณสมบัติดังกล่าว ก็ควรเรียนเศรษฐศาสตร์